ถ้าเป็น “รองช้ำ” จะทำอย่างไรดี ?
"ถ้าเป็น “รองช้ำ” จะทำอย่างไรดี ?
รองช้ำ คืออะไร?
รองช้ำเป็นอาการเจ็บที่บริเวณเนื้อเยื่อพังผืดรองฝ่าเท้า (Plantar Fascia) โดยเฉพาะบริเวณจุดเกาะของพังผืดรองฝ่าเท้าที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า
รองช้ำเป็นอาการที่พบบ่อยในกลุ่มนักกีฬา โดยเฉพาะนักวิ่ง แต่รองช้ำก็สามารถพบเจอได้ในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เล่นกีฬาเช่นกัน
อาการที่พบบ่อย
1. เจ็บส้นเท้า เมื่อยืนหรือเดินก้าวแรกของวัน
2. เจ็บที่บริเวณส้นเท้าด้านใน เมื่อยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ
3. มีจุดกดเจ็บที่บริเวณส้นเท้าด้านในใกล้กับอุ้งเท้า
4. อาจมีอาการบวม แดง บริเวณจุดเกาะพังผืดอักเสบ
สาเหตุของรองช้ำ
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บแบบสะสมและมีการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณจุดเกาะของพังผืดรองฝ่าเท้าที่ส้นเท้า ส่งผลให้เนื้อเยื่อพังผืดเสื่อม หนาตัวขึ้น และทำให้มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณส้นเท้า
การดูแลตนเองเมื่อเจ็บรองช้ำ
1. กินยา/ทายาลดอักเสบกลุ่ม NSIADs
2. ประคบเย็น หากบริเวณที่เจ็บมีอาการบวม แดง ร้อน และประคบอุ่นหากมีอาการเจ็บเรื้อรัง
3. หมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อฝ่าเท้า และเอ็นรองฝ่าเท้าอย่างสม่ำเสมอ
4. เมื่ออาการเจ็บลดลงแล้ว ให้เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อฝ่าเท้าและน่อง
5. ลดหรือเลี่ยงการยืน เดิน วิ่ง
6. ใส่รองเท้าที่มีพื้นด้านในนุ่ม ช่วยซัพพอร์ตเท้า ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
7. ไม่เดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง
85-90% สามารถหายจากอาการเจ็บรองช้ำ โดยรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดและการฉีดยา
หากอาการบาดเจ็บไม่ดีขึ้น แพทย์จะใช้เครื่องมือทางกายภาพเพื่อลดปวดและกระตุ้นการซ่อมแซมพังผืดและเส้นเอ็น เช่น
1. การใช้เครื่องมือทางกายภาพ
1.1 เครื่องมือให้ความร้อนลึก เช่น อัลตราซาวน์ คลื่นความถี่วิทยุ (RF)
1.2 คลื่นแสงพลังงานสูง (High Power LASER Therapy)
1.3 คลื่นกระแทก (Shock Wave Therapy)
2. การฉีดยา
2.1 ฉีดยาลดการอักเสบ บริเวณจุดเกาะของพังผืดที่ส้นเท้า เพื่อลดการอักเสบ, ปวดเรื้อรัง
2.2 ฉีดสารกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เช่น PRP Prolotherapy
หากรักษาไม่สำเร็จ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป"