ไข 5 ข้อข้องใจเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม

"คำถาม 1 ต้องมารับการตรวจเต้านมเมื่อไหร่

คำตอบ แบ่งเป็น 2 กรณี

1. พบอาการผิดปกติ เช่น คลำเจอก้อนที่เต้านมหรือบริเวณรักแร้ หรือมีน้ำไหลออกจากหัวนม ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที

2. ไม่มีอาการผิดปกติ แนะนำให้เริ่มตรวจแมมโมแกรมทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เมื่ออายุครบ 40 ปีขึ้นไป

คำถาม 2 อายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่มีอาการใด ๆ แต่มีความกังวล อยากตรวจแมมโมแกรม ทำได้หรือไม่

คำตอบ สามารถทำได้หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุน้อย หรือเคยได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงที่ทรวงอก โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

คำถาม 3 ไม่กล้ามาตรวจ กลัวว่าจะยิ่งเป็นมะเร็งหรือทำให้มะเร็งกระจายได้ เพราะเคยได้ยินว่ามีรังสี

คำตอบ ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากรังสีในการตรวจแมมโมแกรมนั้นมีปริมาณเพียงเล็กน้อย ไม่มีผลทำให้เกิดมะเร็ง

หากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น

คำถาม 4 การกดบีบเต้านมจากการตรวจแมมโมแกรม จะทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

คำตอบ ไม่เป็นความจริง การกดเต้านมจะทำให้ความหนาของเต้านมลดลง เห็นเนื้อเยื่อของเต้านมชัดเจนขึ้น และลดปริมาณรังสีที่ผู้ตรวจจะได้รับ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม

คำถาม 5 เคยผ่าตัดใส่ซิลิโคนเสริมหน้าอก จะตรวจแมมโมแกรมได้หรือไม่

คำตอบ สามารถทำได้อย่างปลอดภัย และควรมาตรวจเป็นประจำ โดยในระหว่างการตรวจ จะมีการถ่ายภาพเพิ่มจากปกติข้างละ 2 ท่า เพื่อดูเนื้อเต้านมให้ชัดเจนขึ้น

การตรวจแมมโมแกรมไม่ได้ป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านม แต่มีจุดประสงค์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น เมื่อตรวจพบไวจะยิ่งเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดได้ และกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น"

”ลงทะเบียนเพื่อปลดล็อกบทเรียนที่เหมาะสมกับคุณ”