ปวดทรมานจากการเป็น ตะคริว ป้องกันอย่างไรดี

ตะคริว อาการปวดเกร็งที่ใครหลายคนเคยประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งขณะพักผ่อน การเป็นตะคริว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ซึ่งอาการปวดเกร็งที่เกิดขึ้นกะทันหันนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญใจ แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าใจสาเหตุและวิธีรับมือกับตะคริว จะช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น มารู้จักกับอาการนี้ และวิธีป้องกันไปด้วยกัน

ตะคริว คืออะไร ?

ตะคริว คือ อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อแบบฉับพลัน และไม่คลายตัวออกตามปกติ มักเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อน่อง และกล้ามเนื้อต้นขา หรือส่วนใดของร่างกายก็ได้ ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งอย่างรุนแรงและขยับร่างกายส่วนนั้นได้ยาก มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง โดยเฉพาะยามกลางคืน ช่วงขณะนอนหลับ มักพบอาการตะคริวบ่อยจนต้องสะดุ้งตื่น

สาเหตุของตะคริว เกิดจากอะไร ?

สาเหตุของการเกิดตะคริว ยังไม่ทราบแน่ชัดมากนัก แต่อาจมีสาเหตุมาจากอาการกล้ามเนื้อล้า การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดตะคริว มีหลากหลายแบบที่สามารถกระตุ้นอาการได้

  • การอยู่ในท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการนั่งท่าเดิมในเวลานาน หรือใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป รวมถึงการยืนหรือนั่งทำงานบนพื้นแข็ง การจัดท่านั่งไม่เหมาะสม
  • การตึงของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
  • การออกกำลังกายหนัก การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปโดยไม่ได้วอร์มร่างกายก่อนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การขาดน้ำ การสูญเสียน้ำในร่างกายมากเกินไป เช่น การดื่มน้ำน้อย
  • การขาดสารอาหาร การขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม หรือแคลเซียม
  • การตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในร่างกาย
  • การใช้ยาบางชนิด ยาลดไขมันกลุ่มสแตติน(Statins) ยาขับปัสสาวะ(Diuretics) เป็นต้น
  • โรคบางชนิด เกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคเส้นประสาท

อาการของตะคริวเป็นอย่างไร

อาการหลักของตะคริว คือ การปวดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและกะทันหัน อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อแข็งตึง กล้ามเนื้อเป็นก้อน หรือ มีอาการเจ็บเมื่อสัมผัสบริเวณที่เป็นตะคริว

เป็นตะคริวขณะนอนหลับ ป้องกันอย่างไร

หลายคนคงประสบกับปัญหานี้ไม่น้อย กับการเป็นตะคริวขณะนอนหลับ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับจนต้องสะดุ้งตื่น หรือที่เรียกว่า ตะคริวกลางคืน มักพบบ่อยในวัยกลางคน ผู้สูงอายุ และสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งอาการก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ เกิดอาการปวดทรมาน มีลักษณะเป็นก้อนแข็งฉับพลัน เนื่องจากอาการหดตัวของกล้ามเนื้อ

วิธีบรรเทาหากเป็นตะคริวขณะนอนหลับ

  • พยายามยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวช้า ๆ หากมีอาการที่น่องให้เหยียดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้นแล้วค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที และทำซ้ำอีก 5-10 ครั้ง
  • พยายามนวดบริเวณกล้ามเนื้อที่เป็น ตะคริว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย?

วิธีรักษา ตะคริว ทำได้อย่างไร

การรักษาตะคริวเบื้องต้นสามารถทำได้เองที่บ้านง่ายๆ ดังนี้

  • ปรับท่าทางการนอน ให้นอนในท่าสบาย และผ่อนคลาย ไม่นอนท่าเดียว หรือกดทับแขนขา
  • ยืดกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวอย่างช้าๆ และนุ่มนวล จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว หากออกกำลังกายควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกายด้วย
  • นวดกล้ามเนื้อ การนวดกล้ามเนื้อเบาๆ จะช่วยลดอาการปวดและช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น การประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณที่เป็นตะคริว จะช่วยลดอาการปวดและอักเสบ
  • รับประทานยาแก้ปวด การรับประทานยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอล จะช่วยลดอาการปวด
  • ร่างกายไม่ขาดน้ำ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • อาบน้ำอุ่น หรือ แช่น้ำอุ่น ช่วยให้กล้ามเนื้อในร่างกายผ่อนคลายลง

อาหารที่ช่วยลดอาการตะคริว มีอะไรบ้าง

อาหารที่มีประโยชน์ต่อการลดอาการตะคริว มีดังนี้

กล้วย: อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่งช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

ผักใบเขียว: เช่น ผักขม บรอกโคลี คะน้า อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ซึ่งช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ถั่ว: เช่น ถั่วเหลือง ถั่วดำ อุดมไปด้วยแมกนีเซียมและโปรตีน ซึ่งช่วยในการสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ

นมและผลิตภัณฑ์จากนม: อุดมไปด้วยแคลเซียม ซึ่งช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน

ปลา: เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดการอักเสบ

ตะคริว ไม่ใช่แค่เพียงอาการปวดเกร็งธรรมดา แต่ยังอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ การรู้จักวิธีดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดตะคริวซ้ำ ดังนั้น อย่าให้ตะคริวมาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำความรู้จัก เข้าใจสาเหตุ และเรียนรู้วิธีป้องกัน ก็สามารถรับมือกับอาการตะคริวได้แล้ว

by อ. พญ.สกุณี ภระกูลสุขสถิตย์(Author)

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

- คู่มือ ปฐมพยาบาล เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากเล่นกีฬา ต้องทำอย่างไร

- รู้ทันอาการนำของ โรคพาร์กินสัน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

- มารู้จักโรคเกาต์ สัญญานอาการ ต้องกินอาหาร และรักษาอย่างไร

- ออฟฟิศซินโดรม โรคที่รบกวนการใช้ชีวิตของคนทำงาน

ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE