รู้ทันอาการนำของ โรคพาร์กินสัน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เราคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ โรคพาร์กินสัน กันมานานแล้ว แต่หลายคนอาจไม่ได้คิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ โรคนี้เป็นโรคสมองเรื้อรังที่จะค่อยๆ ทำให้การเคลื่อนไหวยากลำบาก การเข้าใจโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราสามารถดูแลผู้ป่วยและหาทางจัดการกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดั้งนั้น เราจะมารู้เท่าทันอาการนำของโรคนี้และวิธีการรักษาไปด้วยกัน
โรคพาร์กินสัน คืออะไร ?
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคสมองเสื่อมเรื้อรังที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทสมองที่มีหน้าที่ในการผลิตสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งสารสื่อประสาทโดปามีนจะมีหน้าที่หลักในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคพาร์กินสันจึงเกิดปัญหาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่จะค่อยค่อยเป็นมากขึ้นและรุนแรงขึ้นตามระยะเวลาโดยอาการที่พบบ่อยเช่นอาการเคลื่อนไหวช้าอาการสั่นอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งเป็นต้น ซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการนำก่อนอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติที่เรียกว่า Prodromal symptoms ที่เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าของการเป็นโรคนี้ได้ เราจึงควรสังเกตอาการนำดังกล่าว เพื่อใช้ช่วยในการสังเกตอาการในผู้ที่สงสัยว่าจะมีอาการของโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน มีอาการแสดงอย่างไร?
อาการแสดงของ โรคพาร์กินสัน ที่พบได้บ่อยจะเป็นอาการทางการเคลื่อนไหวเป็นหลัก ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปจะพบอาการดังนี้
- อาการมือสั่นขณะที่มืออยู่นิ่ง (Tremor) มักเริ่มจากมือข้างใดข้างหนึ่ง สั่นเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะพัก และอาหารสั่นจะลดลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวร้างกายส่วนนั้น โดยอาการสั่นนี้อาจจะเกิดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ขา หรือ คาง?
- อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) การเคลื่อนไหวทุกอย่างช้าลง เช่น การเดิน การเขียน การพูด และการแสดงออกทางสีหน้า
- อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (Rigidity) กล้ามเนื้อแข็งตึง รู้สึกเหมือนมีอะไรมาดึงรั้ง ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ไม่คล่อง
- อาการทรงตัวไม่ดี (Postural instability) เดินเซ ทรงตัวไม่ดี เดินซอยเท้าถี่ มีความเสี่ยงต่อการล้ม
อย่างไรก็ตามก็ตาม ผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการแสดงของโรคพาร์กินสันอาจจะพบมีอาการนำก่อนอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติที่เรียกว่า Prodromal symptoms ที่เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าของการเป็นโรคนี้ได้ โดยอาการ 4 อาการดังต่อไปนี้ ถือเป็นอาการนำ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นพาร์กินสันในอนาคตได้
- อาการนอนละเมอ
- อาการท้องผูกเรื้อรัง
- การรับกลิ่นที่ลดลง
- อาการซึมเศร้า
ดังนั้นหากผู้ที่มีอาการดังกล่าว หลายอาการ หรืออาจจะเกิดร่วมกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของร่างกาย ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินและวินิจฉัยอาการทันที
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ ?
หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการแยกโรคอื่นๆออกจากโรคพาร์กินสัน เช่น การตรวจเลือด การตรวจภาพสมอง เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
วิธีการรักษาโรคพาร์กินสัน
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่มีวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้แก่
- ยา ในกลุ่มที่เป็นยาเสริมสารสื่อประสาทโดปามีนซึ่งถือเป็นยาหลักในการรักษาโดยยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด แพทย์จะเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
- การผ่าตัดสมอง หรือ การใช้ยาฉีดทางปั๊มต่อเนื่องจะสำหรับผู้ป่วยบางราย พี่มีอาการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมออย่างรุนแรง?
- การกายภาพบำบัดและการทำกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
- การทำอรรถบำบัด เพื่อช่วยปรับปรุงการพูดและการสื่อสาร
- การเสริมโภชนาการที่ดีให้กับผู้ป่วย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถรับมือกับโรคได้ดีขึ้น
วิธีป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสัน
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของพาร์กินสัน แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม และ สิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การมีสุขภาพที่ดี พักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย และรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ และ อาจช่วยลดความรุนแรงในผู้ที่เป็นโรคตาย
แม้ว่าโรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่การตระหนักรู้ถึงอาการเริ่มแรกและการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยชะลอความรุนแรงของการเป็นโรคและยกระดับคุณภาพชีวิตได้ นอกจากนี้การเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย และการมีกำลังใจจากครอบครัว และบุคคลรอบข้างก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตมากขึ้นด้วย
by ผศ. พญ. ดร.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล(Author)
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่
- รวม โรคในฤดูฝน ที่ควรระวัง พร้อมเคล็ดลับการป้องกันฉบับปี 2024
- เช็กให้ชัวร์ ! อาการใจสั่น สัญญาณเตือนโรค หรือแค่ความเครียด
- ไมเกรน คือ อะไร ปวดหัวไมเกรน เข้าใจและรับมือให้ถูกวิธี
- โรคสมองเสื่อม ภัยเงียบของผู้สูงอายุ กับวิธีวินิจฉัยเบื้องต้นที่คุณควรรู้!
ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE