รวม โรคในฤดูฝน ที่ควรระวัง พร้อมเคล็ดลับการป้องกันฉบับปี 2024
ฤดูฝนในประเทศไทยนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกๆคนโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของความชื้นและอุณหภูมิที่ลดลง อาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราลดลง เเละหากเกิดการติดเชื้อก็อาจทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลให้เชื้อโรคต่างๆ สามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ง่าย การใช้ชีวิตในหน้าฝนจึงต้องระวังโรคต่าง ๆ มากขึ้น
เช็กโรคฮิต! โรคในฤดูฝน ที่ต้องระวัง
โรคในฤดูฝน มีความหลากหลายและสามารถแยกประเภทได้ตามลักษณะของการเกิดโรค ดังนี้:
- โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะนำเชื้อโรค ยุงเป็นพาหะนำเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายไปยังมนุษย์ได้ผ่านการกัด ซึ่งมีทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวนซึ่งต่างกันในด้านของพฤติกรรมและแหล่งเพาะพันธุ์ แต่ยุงทั้งสองชนิดนี้สามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคที่เป็นอันตรายไปยังมนุษย์ได้
- โรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินหายใจสามารถเกิดได้ตั้งแต่จมูก, คอ, หลอดลม ไปจนถึงปอด โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย, ไวรัส, หรือเชื้อรา
- โรคที่เกิดจากการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรง หรือมีพาหะนำเชื้อโรค เช่น น้ำ ดิน อาหาร สิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางบาดแผล การขยี้ตา การสัมผัสดวงตา รวมทั้งการดื่มน้ำและรับประทานอาหาร??
จากที่กล่าวไปในข้างต้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคต่างๆในฤดูฝน และเพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ จึงจะแยกตามลักษณะของการเกิดโรคสามารถแบ่งได้ ดังนี้
- โรคในหน้าฝนที่เกิดจากยุงเป็นพาหะนำ
- โรคไข้เลือดออก เป็นโรคในฤดูฝนยอดฮิตในทุก ๆ ปี เกิดจากการถูกยุงลายเพศเมียกัด ซึ่งในตัวยุงลายมีเชื้อไวรัสเดงกีติดมาด้วย อาการป่วยจากโรคไข้เลือดออกในครั้งแรกจะมีอาการไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อครั้งที่สอง และเป็นเชื้อคนละสายพันธุ์จากการติดครั้งแรกอาจจะมีอาการรุนแรงได้ โดยปกติอาการของไข้เลือดออกจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะรุนแรง และระยะฟื้นตัว ส่วนการรักษาโรคไข้เลือดนั้น จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น
- โรคชิคุนกุนยา หรือจะเรียกว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งมียุงลายสวน ยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก อาการหลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดคือ มีไข้ ปวดบริเวณข้อ และอาจเกิดการปวดเรื้อรัง ส่วนการรักษานั้นจะเป็นการ รักษาตามอาการ
-
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค อาการของโรคไวรัสซิกาที่พบได้บ่อย จะมีไข้ต่ำ ๆ มีผื่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง ในบางรายจะเกิดความผิดปกติของระบบประสาท ส่วนการรักษาจะเป็นการรักษาแบบตามอาการ นอกจากนี้โรคไวรัสซิกายังสามารถแพร่เชื้อจากแม่ไปยังลูกในท้อง และทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย
- โรคในหน้าฝนที่เกิดจากการติดต่อทางระบบหายใจ
- โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา มักพบการติดเชื้อในสายพันธุ์ A และ B ส่วนมากมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว คัดจมูก เจ็บคอ ไอ ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจเกิดอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนทำให้เสียชีวิตได้?
- โรคปอดอักเสบ เกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ ปอดอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ เช่น ผลจากการใช้ยาเคมีบำบัด การใช้ยาปฏิชีวนะ หายใจเอาฝุ่นหรือควัน ส่วนสาเหตุที่ 2 เกิดขึ้นได้บ่อย คือปอดอับเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา อาการโดยรวมของโรคปอดอักเสบมักจะหายใจเหนื่อยหอบ ไอ มีไข้ เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และอันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้
- โรคในหน้าฝนที่เกิดจากการสัมผัส
- โรคเลปโตสไปโรซิส หรือที่ทุกคนเรียกว่า “โรคฉี่หนู” เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร สุนัข เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ในที่พื้นที่แฉะ หรือ น้ำท่วมขัง สามารถติดได้จากการสัมผัสเข้าสู่ร่างกายที่มีบาดแผล รอยขีดข่วน ผิวหนังเปื่อยจากการแช่น้ำ หรือ ผ่านเยื่อบุตา จมูกและปาก อาการที่พบได้บ่อยของโรคฉี่หนูจะมีตั้งแต่ คลื่นไส้ ตาแดง ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ตาเหลือง ตัวเหลือง ปวดกล้าเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง การรักษาเบื้องต้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการรักษาตามอาการ
- โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei)” ซึ่งพบในดินและน้ำ อาชีพเกษตรกรจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล รวมทั้งจากการดื่มน้ำ อาหาร หายใจรับฝุ่นละอองที่มีเชื้อปนเปื้อน คนที่เป็นโรคเมลิออยโดสิสจะมีอาการปวดท้อง เกิดฝีหรือหนองที่ผิวหนัง เกิดแผลเรื้อรัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้สูง ไอ หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก
- โรคตาแดง เป็นโรคระบาดทางตาที่มักพบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว สาเหตุหลักๆมาจาก เชื้อไวรัส เชื้อปรสิต และเชื้อแบคทีเรีย เชื้อต่างๆเหล่านี้สามารถอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำตา ขี้ตา ซึ่งอาการของโรคตาแดงจเริ่มเป็นหลังรับเชื้อ 1-2 วัน จะมีอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล ตาบวม มีขี้ตา อาการเหล่านี้จะคงอยู่ได้นาน 1-2 สัปดาห์ การติดต่อของโรคติดได้จากการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกันในครัวเรือน เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน การสัมผัสพื้นผิวในที่สาธารณะ เช่น ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู เบาะที่นั่งและ การสัมผัสเชื้อโรคจากแหล่งน้ำ ฝุ่น โคลนในธรรมชาติ เป็นต้น?
การรักษาเบื้องต้น ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดหรือป้าย เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียและปรสิต สวมแว่นกันแดดหากมีอาการเคืองตา หรือ แพ้แสง ไม่ปิดตาและไม่ต้องล้างตา หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยการรักษา
-
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses) มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ๆ ที่สัมผัสของเล่นร่วมกัน หรือเด็กที่ละเลยการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค อาการของโรคมือเท้าปากจะมีไข้ มีตุ่มน้ำใสหรือผื่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในปาก และก้น บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น น้ำท่วมปอด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
เคล็ดลับการป้องกัน โรคในฤดูฝน ฉบับปี 2024
- โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะนำเชื้อโรค สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
- รักษาความสะอาดบริเวณบ้าน ควรกำจัดขยะและน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เช่น กระถางต้นไม้, ถังเก็บน้ำ และภาชนะอื่น ๆ
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยใช้สารเคมีหรือยาฉีดกำจัดยุงเพื่อลดจำนวนยุงในพื้นที่
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด การสวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่มิดชิด สามารถช่วยลดพื้นที่ที่ยุงเข้าถึงตัวได้
- นอนกางมุ้ง การใช้มุ้งกันยุงในระหว่างการนอนสามารถลดการถูกยุงกัดขณะนอนหลับ
- ติดมุ้งลวด การติดมุ้งลวดที่หน้าต่างและประตูบ้านสามารถช่วยป้องกันยุงไม่ให้เข้ามาภายในบ้านได้
- โรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้?
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนทุกปีช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมอย่างมากในช่วงฤดูฝน
- สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่เสี่ยงสูง หรือ สถานที่ที่มีคนหนาแน่นจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
- โรคที่เกิดจากการสัมผัสมีการป้องกันที่ควรปฏิบัติดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ การล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสิ่งของในที่สาธารณะหรือบาดแผลจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ และ ระวังการใช้มือสัมผัสรอบดวงตาหรือขยี้ตา
- ดื่มน้ำสะอาด การดื่มน้ำที่สะอาดช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
- กินร้อนช้อนกลาง การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใช้ช้อนกลางช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่เกิดจากอาหาร
สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
- สวมรองเท้าบูท ป้องกันการสัมผัสดินโคลนหรือสิ่งสกปรกจากน้ำท่วม การสวมรองเท้าบูทจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากการสัมผัสได้
- อาบน้ำชำระร่างกาย ควรชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วและเช็ดให้แเห้ง หลีกเลี่ยงไม่ให้บาดแผลสัมผัสกับน้ำที่ไม่สะอาด หรือจากกิจกรรมต่างๆ การอาบน้ำจึงช่วยล้างเชื้อโรคที่อาจติดอยู่บนส่วนต่างๆของร่างกายได้
โรคในฤดูฝน ในประเทศไทยเป็นโรคที่พวกเราคุ้นเคยกันดี เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่าง ๆ ในการรับมือและป้องกันโรคเหล่านี้สามารถทำได้อย่างง่ายดายหากเราตระหนักถึงความอันตรายและลงมือป้องกันอย่างจริงจัง
by รศ. ดร. พญ.กนิษฐา ภัทรกุล(Author)
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่
- รู้ทันอาการนำของ โรคพาร์กินสัน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
- โรคสมองเสื่อม ภัยเงียบของผู้สูงอายุ กับวิธีวินิจฉัยเบื้องต้นที่คุณควรรู้!
- ไมเกรน คือ อะไร ปวดหัวไมเกรน เข้าใจและรับมือให้ถูกวิธี
- คู่มือ ปฐมพยาบาล เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากเล่นกีฬา ต้องทำอย่างไร
ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE