เช็กให้ชัวร์ ! อาการใจสั่น สัญญาณเตือนโรค หรือแค่ความเครียด
อาการใจสั่น อาการที่เกิดขึ้นโดยรู้สึกได้ว่าหัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ทำให้ผู้ที่มีอาการใจสั่นรู้สึกกังวล ว่าอาจจะเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือไม่ แม้ว่าอาการที่หัวใจเต้นเร็วจะมาจากความเครียด หรือตื่นเต้นได้ก็ตาม แต่หากรู้แน่ชัดว่าต้นเหตุนั้นมาจากอะไรย่อมจะดีกว่า วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการที่เรียกว่า ‘ใจสั่น’ กันให้มากขึ้นในบทความนี้?
อาการใจสั่น เป็นอย่างไร ?
หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายที่อยู่ลึกลงไปภายในผิวหนังและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นได้เลยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แต่ อาการใจสั่น จะเป็นอาการหนึ่งที่แสดงให้เรารู้สึกได้ว่า อัตราการเต้นของหัวใจเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม โดยอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- หัวใจเต้นแรง
- หัวใจเต้นเร็ว
- วิงเวียนศีรษะ
- หน้ามืด
- มือสั่น
- ตัวเย็น
- รู้สึกคล้ายจะเป็นลม หรือบางรายอาจเป็นลม
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการใจสั่น
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนั้นมีจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งมีทั้งปัจจัยด้านสุขภาพ และปัญหาจากความเครียดวิตกกังวล โดยสาเหตุของการใจสั่น เต้นเร็ว มีดังนี้?
1. ความเครียด วิตกกังวล
เมื่อมีความรู้สึกเครียด หรือกำลังมีความรู้สึกกังวลใจอาจส่งผลกับการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้นได้ และอาจมีอาการเหงื่อออกมาก ตัวสั่น หายใจติดขัด และเจ็บหน้าอกที่ทำให้รู้สึกคล้ายกับโรคหัวใจได้
2. มีไข้ ติดเชื้อ
ขณะที่มีอาการเจ็บป่วยเป็นไข้สูง และมีการติดเชื้อร่วมด้วยร่างกายจะใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นด้วย ซึ่งก็อาจเป็นต้นเหตุของอาการได้เช่นกัน
3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายในหลายด้าน โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจที่เต้นเร็ว หรือมีภาวะใจสั่นร่วมด้วยได้
4. โรคไทรอยด์เป็นพิษ
ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย และเป็นผลที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว และมีอาการที่รู้สึกใจสั่น ใจเต้นเร็ว รวมถึงอาการมือสั่น ตัวสั่น
5. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทำให้หัวใจมีการเต้นที่ผิดปกติ อาจช้าหรือเร็วอย่างเห็นได้ชัด บางคนอาจมีอาการเต้นช้าเร็วสลับกันไม่สม่ำเสมอ โรคหัวใจอาจมีความรุนแรง?และภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันในแต่ละคน
6. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ นอกจากจะทำให้รู้สึกวิงเวียน หน้ามืด ยังส่งผลให้เกิดอาการมือสั่น ใจหวิว และรู้สึกถึงหัวใจเต้นเร็วได้
รู้ได้อย่างไรว่า กำลังมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติร่วมกับอาการใจสั่น ?
แม้ว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการได้จากหลายสาเหตุ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากเป็นปัจจัยที่มาจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังอยู่ในอันตรายที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ สำหรับวิธีเช็กว่าภาวะใจสั่นที่เกิดขึ้นมาจากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ สามารถทำได้จากสองวิธี คือ
- ตรวจวัดชีพจรตัวเอง
เมื่อรู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติในขณะที่นั่งหรือนอนพัก ให้ลองจับชีพจรของตัวเอง โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางแตะบริเวณข้อมือตรงตำแหน่งฐานหัวแม่มือ จะรู้สึกได้ถึงการเต้นของหัวใจ ให้ลองนับจังหวะการเต้นพร้อมกับจับเวลา หากพบว่าการเต้นของหัวใจที่นับได้สูงเกินกว่า 100 ครั้งต่อนาที รวมทั้งมีอาการเหนื่อยหอบ หน้ามืดร่วมด้วย ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป
- ใช้เครื่องมือช่วยวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้เห็นอัตราการเต้นของหัวใจได้ชัดเจนมากขึ้น โดยสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เช่น แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน นาฬิกาที่สามารถวัดการเต้นของหัวใจได้ เครื่องวัดความดัน และเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการใจสั่น
อาการใจสั่น เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจมีผลต่อร่างกายในหลายด้าน เช่น มือสั่น หน้ามืด ใจหวิว หรือกลัวเสียชีวิต ทั้งนี้หากเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากเรื่องของความเครียด วิตกกังวล หรือเพราะคาเฟอีนจากเครื่องดื่ม ให้หาที่นั่งพักแล้วหายใจเข้า-ออกช้า ๆ จนรู้สึกดีขึ้น แต่หากเป็นอาการที่ใจสั่นร่วมกับการเจ็บแน่นหน้าอก หรือหายใจติดขัด แนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน
บทสรุปเรื่องอาการใจสั่น
อาการใจสั่น อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่แสดงถึงความผิดปกติของเรื่องสุขภาพและร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคหัวใจได้ ดังนั้นควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาจะดีที่สุด หรือหากใครที่ตรวจสุขภาพแล้วพบว่าเป็นปัญหาจากความเครียด ควรปรับทัศนคติทางความคิด ออกกำลังกาย และหากิจกรรมที่ผ่อนคลายสร้างความสุข ก็เป็นวิธีที่ช่วยบำบัดความเครียด และลดโอกาสเกิด อาการใจสั่น ได้
by อ. นพ.วรวุฒิ รุ่งประดับวงศ์ (Author)
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่
- โรคสมองเสื่อม ภัยเงียบของผู้สูงอายุ กับวิธีวินิจฉัยเบื้องต้นที่คุณควรรู้!
- รู้ทันอาการนำของ โรคพาร์กินสัน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
- ไมเกรน คือ อะไร ปวดหัวไมเกรน เข้าใจและรับมือให้ถูกวิธี
- รวม โรคในฤดูฝน ที่ควรระวัง พร้อมเคล็ดลับการป้องกันฉบับปี 2024
ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE