ออฟฟิศซินโดรม โรคที่รบกวนการใช้ชีวิตของคนทำงาน
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โรคยอดฮิตของพนักงานออฟฟิศในยุคปัจจุบัน ด้วยพฤติกรรมของการทำงานที่ต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน และการใช้อุปกรณ์ในการทำงานอย่าง Laptop ที่ทำให้ต้องนั่งในท่าทางที่ให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ง่าย และอาจทำให้ปวดได้ตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ ลามไปถึงข้อมือและศีรษะเลยทีเดียว
สาเหตุของ ออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม นั้นมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ต้องนั่งทำงานแบบที่เรียกว่า “นั่งติดโต๊ะ” เป็นเวลานานและติดต่อกันหลายวัน ซึ่งสาเหตุหลักของการเป็นออฟฟิศซินโดรมมาจาก 4 ปัจจัยต่อไปนี้
- นั่งก้มหรือจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟนเป็นเวลานาน
- ยืนหรือนั่งหลังค่อม นั่งในท่าทางที่ลำคอยื่น ไหล่งุ้ม หรือการนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานาน
- นั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะนั่งในท่าทางไม่เหมาะสม
- ยกของหนัก หรือสะพายกระเป๋าหนักเป็นเวลานาน
ออฟฟิศซินโดรม เป็นแล้วมีอาการอย่างไร?
อาการออฟฟิศซินโดรมนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจจะมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย ทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่ทราบว่ากำลังเผชิญอยู่กับโรคนี้ ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจมากยิ่งขึ้น ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างอาการของออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน
- ปวด ตึง เมื่อยล้ากล้ามเนื้อโดยเกิดขึ้นเฉพาะส่วน เช่น บริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ สะบัก และหลัง
- บางรายอาจมีอาการปวดร้าวในบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย
- อาการปวดร้าวลามขึ้นศีรษะ สายตาพร่ามัว หูอื้อ
- มีอาการของเส้นประสาทถูกกดทับร่วมด้วย เช่น มือชา และนิ้วชา
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
แม้ว่าอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นจะเกิดขึ้นบ่อยกับคนที่ทำงานออฟฟิศเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วโรคนี้สามารถพบได้ในคนทั่วไปหลากหลายอาชีพ อาทิเช่น?
1. คนทำงานออฟฟิศ
แน่นอนว่าออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนออฟฟิศมากที่สุด เพราะเป็นคนที่ใช้เวลาในการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และแทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเลยหลายชั่วโมง อีกทั้งบางคนยังนั่งท่าทางที่ไม่เหมาะกับการทำงานด้วย ทำให้เกิดปัญหาปวดตึง และเมื่อยกล้ามเนื้อได้ตามมา
2. นักเรียน นักศึกษา
การนั่งอ่านหนังสือ การใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ต่างๆในระหว่างการเรียน หรือการอ่านหนังสือเตรียมสอบนั้น หากนั่งในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือนั่งในอิริยาบถเดิมๆเป็นเวลานาน โดยเฉพาะมากกว่า 20-30 นาทีต่อเนื่อง นำไปสู่ภาวะปวดกล้ามเนื้อ หรือออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน
3. ผู้ใช้แรงงาน
กรณีของผู้ใช้แรงงานจัดเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานด้วยการออกแรงและเคลื่อนไหวร่างกายในท่าเดิมซ้ำๆ หากกระทำในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่อาการปวดโดยเฉพาะปวดจากการใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ หรือเกิดอาการชามือ จากเส้นประสาทถูกกดทับได้
5 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม
แม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้แบบเรื้อรังแต่ก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะเราสามารถลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้เพียงแค่ปฏิบัติตาม 5 วิธีต่อไปนี้
1. พักสายตาจากหน้าจอบ้าง
ออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อก็จริง แต่ก็ส่งผลถึงสายตาและอาการปวดศีรษะด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อต้องนั่งทำงานหน้าจอเป็นเวลานาน แนะนำให้พักสายตาจากหน้าจอทุก 20 นาที ด้วยการนั่งหลับตาหรือมองออกไปที่ไกลๆ ประมาณ 10-20 วินาทีจะช่วยลดการล้าของสายตาได้
2. ไม่นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน
การนั่งในท่าทางเดิมเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการปวดตึงที่กล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ ดังนั้นไม่ควรนั่งทำงานในท่าทางเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรมีการพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ๆ?
3. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ้าง
หลังจากนั่งทำงานเป็นเวลานาน อย่างน้อย ๆ ในทุก 30 – 60 นาที แนะนำให้ลุก ยืน เดิน หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และช่วยลดการเกิดอาการปวดเมื่อยได้
4. เลือกเฟอร์นิเจอร์สำนักงานเพื่อสุขภาพ
เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงานเพื่อสุขภาพ เช่น โต๊ะและเก้าอี้ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับกับสรีระและเหมาะกับการทำงาน ปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้เข่างอประมาณ 90 องศา มีที่พักเท้า จะช่วยให้การนั่งทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลดโอกาสเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
นอกจากวิธีลดความเสี่ยงจากที่ทำงานแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังเป็นวิธีสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายให้มีความแข็งแรง ลดการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้
อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดเป็นเรื้อรังหรือมีอาการปวดแย่ลง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อเข้ารับการตรวจประเมิน วินิจฉัยโรค และนำไปสู่การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เหมาะสม เช่น การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด การฝังแบบตะวันตก เพื่อลดอาการปวด รวมไปถึงได้รับคำแนะนำในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วย
สรุป ออฟฟิศซินโดรม โรคที่ยิ่งปล่อยไว้ยิ่งทรมาน
เรียกได้ว่า ออฟฟิศซินโดรม นั้นเป็นโรคที่ยิ่งปล่อยเอาไว้ยิ่งนำความเจ็บปวด ส่งผลทางลบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น การดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการออกกำลังกายแบบแอโรคบิคเป็นประจำ นอกจากช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ และส่งเสริมสมรรถภาพร่างกายด้วย
by อ. พญ.โสภาทิพย์ ฤกษ์ม่วง(Author)
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่
- รู้จัก วัณโรค โรคติดต่อที่รักษาได้ เผยวิธีการดูแลอย่างถูกต้อง
- โรค RSV อันตรายต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ทุกฤดูฝนตั้งแต่เดือน ก.ค. - พ.ย.
- ไมเกรน คือ อะไร ปวดหัวไมเกรน เข้าใจและรับมือให้ถูกวิธี
- โรคสมองเสื่อม ภัยเงียบของผู้สูงอายุ กับวิธีวินิจฉัยเบื้องต้นที่คุณควรรู้!
ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE