รู้จัก วัณโรค โรคติดต่อที่รักษาได้ เผยวิธีการดูแลอย่างถูกต้อง


วัณโรค โรคที่ยังคงคุกคามสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้จะมีการพัฒนายารักษาที่ทันสมัย แต่ก็ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรคตั้งแต่สาเหตุอาการ วิธีการรักษา และการป้องกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เราสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ และแนวทางการดูแลรักษาอย่างถูกต้องกัน

วัณโรค โรคติดต่อนี้ คืออะไร?

วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากแบคทีเรียชนิด มัยโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปทำลายปอด แต่ก็สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะ อื่นๆ ได้ เช่น กระดูก สมอง และไต เป็นต้น เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและเสียชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งการติดต่อเกิดจากการไอ และจาม แล้ว หายใจเชื้อวัณโรคนี้เข้าไป ในปัจจุบัน พบว่าประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่สูงทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเพศ ชายมากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยประมาณ 150 คน ต่อประชากร 100,000 คน คิดเป็นผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 100,000 คนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูง 1 ใน 30 ของโลก สำหรับอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ ประมาณ 10,000 คนต่อปีทำให้โรคนี้ เป็นโรคที่ละเลยไม่ได้ จำเป็นต้องช่วยกันหาทางดูแลรักษาและป้องกันให้ดีที่สุด

สาเหตุและการแพร่กระจายของเชื้อ วัณโรค

  1. การติดเชื้อจากคนสู่คน เป็นวิธีการแพร่กระจายที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสูดดมเชื้อแบคทีเรียที่ผู้ป่วยวัณโรค ไอ จาม หรือพูดออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ปิดหรือมีการสัมผัสใกล้ชิด
  2. เกิดจากปัจจัยเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อน ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคสูง ได้แก่ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ใช้ยาเสพติด ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความแออัด

อาการของ วัณโรค เป็นอย่างไร?

อาการของวัณโรคมักจะค่อยเป็นค่อยไป และไม่ชัดเจนในช่วงแรก ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการเลย หรืออาจเกิดขึ้นฉับพลันได้ แต่เมื่อโรคดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อาจพบอาการดังต่อไปนี้?

  1. ระบบทางเดินหายใจ ไอเรื้อรัง ติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีเลือดปน ไอเป็นเลือด เจ็บ หน้าอก หายใจลำบาก
  2. มีอาการไข้เรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นไข้ต่ำ ๆ เป็นๆ หายๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน นำ้หนักลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร?

หมายเหตุ: อาการของวัณโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เชื้อแบคทีเรียไปทำลาย

การวินิจฉัยวัณโรค ทำด้วยวิธีใด

  1. การตรวจเสมหะ เป็นวิธีที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัย โดยการย้อมเสมหะสีทนกรด การตรวจทางอณูชีววิทยาที่มีความไวมากขึ้น หรือการเพาะเชื้อวัณโรค
  2. การเอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติของปอด เช่น รอยโรค ก้อน หรือโพรง
  3. การตรวจอื่นๆ ประกอบการวินิจฉัย เช่น การตรวจจุลินทรีย์เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียใน

ตัวอย่างเนื้อเยื่อการตรวจทางชีวเคมี ตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของตับ ไต และอวัยวะอื่นๆ?และ การตรวจทางภูมิคุ้มกัน เพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียวัณโรค

การรักษาวัณโรค มีวิธีอย่างไร

  1. ยาต้านวัณโรค เป็นการรักษาหลัก โดยจะใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และลดการกลับเป็นซ้ำ การรักษาจะใช้เวลานานหลายเดือน โดยปกติประมาณ 6 เดือน และผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดยาเอง การรับประทานยาไม่สม่ำเสมออาจส่งผลทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาได้และอาจทำให้ต้องปรับยาที่เป็นสูตรดื้อยา ที่อาจมีผลข้างเคียงมากขึ้น ราคายาสูงขึ้น รวมถึงยังอาจต้องกินยานานขึ้นอีกด้วย
  2. การดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดทุกชนิด ใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่อไอหรือจามป้องกันการแพร่เชื้อ
  3. การพักผ่อน ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถต่อสู้กับโรคได้ดีขึ้น

หมายเหตุ: อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เช่น ปอดทะลุ เกิดจากการที่เนื้อปอดถูกทำลายจนเกิดโพรง เยื่อหุ้มปอดอักเสบ และวัณโรคกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั้งสมอง กระดูก และไต

การดูแลป้องกันวัณโรค

  1. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อวัณโรค ควรหมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือทุก 6 เดือน เพื่อความปลอดภัย
  2. ดูแลตัวเอง ให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีภูมิต้านทานโรค เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับเชื้อได้
  3. ปกป้องร่างกายจากสภาพแวดล้อม ปรับปรุงให้สถานที่พักอาศัย สะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากไปในสถานที่แออัด หรือมีผู้ป่วยมาก ให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน
  4. พบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ หากเกิดอาการผิดปกติในร่างกาย มีความเสี่ยงต่อ วัณโรค จากการใกล้ชิดผู้ป่วย ควรรับพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยโรค

วัณโรค เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการตรวจพบและรักษาอย่างถูกต้องการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รักษาอย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ ห่างไกลวัณโรคไม่ยาก หากเราเรียนรู้วิธีป้องกัน

by รศ. นพ.กำพล สุวรรณพิมลกุล(Author)

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

- ไมเกรน คือ อะไร ปวดหัวไมเกรน เข้าใจและรับมือให้ถูกวิธี

- รวม โรคในฤดูฝน ที่ควรระวัง พร้อมเคล็ดลับการป้องกันฉบับปี 2024

- รู้ทันอาการนำของ โรคพาร์กินสัน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

- โรคสมองเสื่อม ภัยเงียบของผู้สูงอายุ กับวิธีวินิจฉัยเบื้องต้นที่คุณควรรู้!

ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE