โรคเบาหวาน ภัยร้ายที่ยิ่งรู้เร็วยิ่งลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

โรคเบาหวาน หนึ่งในโรคที่พบบ่อยในวัยทำงานไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งตามความเข้าใจของหลายคนแล้วการที่จะเป็นโรคเบาหวานได้นั้นต้องมาจากการกินอาหารหวานจัด หรือเป็นคนติดหวาน แต่ความจริงแล้วโรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่แม้แต่คนไม่ค่อยกินหวานก็สามารถเป็นได้ วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานกันให้มากขึ้น พร้อมทั้งแนวทางดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคนี้กัน

โรคเบาหวาน คืออะไร?

โรคเบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ร่วมกับการมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ร่างกายสามารถที่จะนำเอาน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดนั้นมีค่าสูงที่มาก กว่าปกติ ทั้งนี้โรคเบาหวานนั้นสามารถแบ่งออกได้อีก 4 ชนิด คือ

  • เบาหวานชนิดที่ 1 : เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่ทำลายเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อน จนทำให้เกิดภาวะขาดอินซูลินขึ้น
  • เบาหวานชนิดที่ 2 : โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดขึ้นจากการมีภาวะดื้ออินซูลิน และร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ ซึ่งโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ เป็นเบาหวานที่พบได้มากที่สุดในวัยผู้ใหญ่
  • เบาหวานจากสาเหตุจำเพาะอื่น : เบาหวานชนิดนี้เป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นจากความเจ็บป่วย หรือโรคบางชนิด เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคผิดปกติของต่อมไร้ท่อบางชนิด หรือการรับประทานยาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ : เบาหวานชนิดนี้จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และเป็นโรคเบาหวานชนิดที่หายไปได้เองหลังจากคลอดบุตร แต่หากไม่ได้รับการควบคุมเรื่องการกินหรือดูแลอย่างเหมาะสมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

เนื่องจาก โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 นั้นเป็นโรคที่เกิดขึ้นมากที่สุด และพบบ่อยที่สุดในผู้ป่วย เบาหวานทำให้เป็นชนิดที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีดังนี้

  • อายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป
  • มีรอบเอวเกินมาตรฐาน มากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย หรือมากกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง
  • มีความดันโลหิตสูง หรือทานยาความดันโลหิตอยู่
  • มีระดับไตรกลีเซอไรด์ สูงกว่า 250 มล./ดล. หรือระดับไขมัน และคอเลสเตอรอลสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  • มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคเบาหวาน
  • เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • มีภาวะก่อนเบาหวาน ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่า 100-125 มก./ดล.หรือระดับน้ำตาลสะสม 5.7% - 6.4%
  • กลุ่มผู้ที่มีถุงน้ำในรังไข่
  • ผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  • ผู้ที่ขาดการเคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวันเป็นเวลานาน


อาการแรกเริ่มของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน มักเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีอาการหรือภาวะความเปลี่ยนแปลงของโรคแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน แต่อาจมีอาการที่เกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย และหลายคนไม่ทันสังเกตอาการมาก่อน จนนำไปสู่โรคเบาหวานในระยะที่รุนแรงแล้ว ทั้งนี้ สามารถประเมินความเสี่ยงของโรคได้จากอาการเบื้องต้น ดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติในระหว่างวัน และมีปริมาณมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ลดอาหาร
  • แผลที่เกิดขึ้นตามร่างกายหายช้า
  • สายตาพร่ามัว มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ชัด
  • ชาปลายมือหรือปลายเท้า
  • รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
  • ดื่มน้ำบ่อย กระหายน้ำเป็นประจำ
  • หิวบ่อย กินจุมากกว่าเดิม

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำ และมีมากกว่า 2 อาการ แนะนำให้ตรวจคัดกรองเบาหวาน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะช่วยลดความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันของโรคเบาหวาน

นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับการรักษา หรือทานยารักษา โดยภาวะแทรกซ้อนนั้นมักจะเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ทำให้รู้สึกหน้ามืด วิงเวียน และบางรายอาจมีอาการวูบ ชัก หรือหมดสติได้ ทั้งนี้หากมีภาวะหมดสติเกิดขึ้น ผู้ใกล้ชิดต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที

2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าค่าปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับภาวะกรดเมตบอลิกจากกรดคีโตนคั่งในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีภาวะที่เรียกว่าไฮเปอร์ไกลซีมิกไฮเปอร์ออสโมลาร์ ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับภาวะออสโมลาริตี้ในร่างกายสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 320 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่จะไม่มีภาวะกรดเมตาบอลิกจากกรดคีโตนคั่งในร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรังของโรคเบาหวาน

นอกจากภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นได้ 2 กรณีทั้งเกิดจาก หลอดเลือดขนาดเล็ก และหลอดเลือดขนาดใหญ่ ดังนี้

1. ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก

ภาวะนี้จะแสดงอาการให้เห็นตามร่างกาย รวมถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น อยากเห็นได้ชัดในหลายจุด ดังนี้

- ไตวาย

- ปลายประสาทเสื่อม เช่น ชาปลายเท้า รู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มทิ่ม

- เบาหวานขึ้นตา

2. ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่

ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับหลอดเลือดขนาดใหญ่ และมีอาการที่ร่างกายที่รุนแรงกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ ดังนี้

- อัมพฤกษ์ อัมพาต

- กล้ามเนื้อหัวใจขนาดเลือด

- หลอดเลือดแดงอุดตัน หากเกิดบาดแผลมีโอกาสสูงที่จะถูกตัดนิ้ว หรือขา

by อ.พญ. ณิชกานต์ หลายชูไทย(Author)

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

- มารู้จักโรคเกาต์ สัญญานอาการ ต้องกินอาหาร และรักษาอย่างไร

- รู้ทันอาการนำของ โรคพาร์กินสัน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

- รู้จัก วัณโรค โรคติดต่อที่รักษาได้ เผยวิธีการดูแลอย่างถูกต้อง

- ปวดทรมานจากการเป็น ตะคริว ป้องกันอย่างไรดี

ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE