เคล็ดไม่ลับห่างไกลภาวะหัวใจล้มเหลว ทำอย่างไร?

หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนปั๊มน้ำ (เลือด) ทำหน้าที่ปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อหัวใจทำงานผิดปกติและไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอ นำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นอาจค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันไปด้วยกัน

ภาวะหัวใจล้มเหลว คืออะไร ?

หลายท่านเข้าใจผิดว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือช็อกกะทันหัน แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถปั๊ม (สูบฉีด) เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ แต่หัวใจยังเต้น ยังทำงานอยู่ แต่ด้วยการทำงานของปั๊มที่แผ่วลง จะทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยมักจะมีอาการตามส่วนของน้ำคั่งบริเวณต่าง ๆ เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย ซึ่งเกิดจากน้ำคั่งในปอด หรือ ขาบวม ซึ่งเกิดจากน้ำคั่งบริเวณขาทั้งสอง หรือมีอาการอิ่มเร็ว อึดอัดแน่นท้อง ซึ่งเกิดจากน้ำคั่งในช่องท้อง มีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งเกิดจากเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เพียงพอ

ภาวะหัวใจล้มเหลวพบได้บ่อยไหม น่ากลัวไหม?

ปัจจุบันพบว่า ประชากรทั่วโลก ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวกว่า 64 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 1 ใน 5 พบว่า เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งสามารถมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมักเสียชีวิตที่ 5 ปีหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

สาเหตุของ ภาวะหัวใจล้มเหลว

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นความเสี่ยงที่พบได้ในโลกการรับประทาน และ life style ในปัจจุบัน ได้แก่ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพ (อาหารที่มีไขมันสูง) การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ความเครียด การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง

2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่

  • โรคลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจผิดปกติทำให้ กล้ามเนื้อหัวใจรับปริมาณเลือดที่มากกว่าปกติ
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือการติดเชื้อ หรือได้ยาที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือไม่สม่ำเสมอ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายตัว กล้ามเนื้อหัวใจขยายตัวทำให้สูบฉีดเลือดได้น้อยลง

3. โรคความดันโลหิตสูง

4. โรคอะมิลอยด์

อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นอย่างไร

อาการของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • หายใจเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม นอนราบไม่ได้ หรือต้องตื่นขึ้นมานั่งเป็นพักๆ
  • มีอาการบวม ที่ขา เท้า
  • อาจมีอาหารจุกแน่น คลื่นไส้อาเจียน จากบริเวณตับและทางเดินอาหาร
  • อ่อนล้า ง่วงนอน เหนื่อยง่าย

การดูแลตัวเอง (self care) สำหรับผู้ป่วยที่มี ภาวะหัวใจล้มเหลว

  • รับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาถึงแม้อาการจะดีขึ้น
  • มารับการติดตาม หรือการปรับยาตามแพทย์นัด
  • ชั่งน้ำหนักเป็นประจำ เพราะน้ำหนักตัว เป็นตัวชี้วัดน้ำคั่ง หรือ อาการเหนื่อยหอบ หากพบว่า น้ำหนักตัว เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เพิ่ม 2 กิโลกรัม ใน 2 วัน (เป็นสัญญาณเตือนว่าน้ำคั่ง) ต้องรีบพบแพทย์ทันที
  • ควรงดอาหารดเค็ม เนื่องจากอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเกลือและน้ำคั่งมากกว่าเดิม ทำให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว
  • ควรงดเหล้าและบุหรี่ เนื่องจากแอลกอฮอล์ และสารในบุหรี่ จะทำให้หัวใจทำงานไม่ปกติ
  • หมั่นสังเกตตัวเองเสมอ สำรวจว่า มีอาการเหนื่อย หอบ นอนราบ ใช้หมอนสูงขึ้น หากพบสิ่งผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
  • การออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ควรออกกำลังกายเบาๆ เอาแค่พอดี และต้องสม่ำเสมอ โดยไม่หักโหม โดยคำแนะนำของแพทย์ สำหรับการออกกำลังกาย คือ การเดินเร็ว วิ่ง หรือ ปั่นจักรยาน หากมีอาการเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ให้หยุดพักทันที
  • หากร่างกายยังไม่ชินในช่วงแรกของการออกกำลังกาย ให้ใช้เวลาเพียง 5-10 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาเรื่อย ๆ จนเป็น 20-30 นาทีต่อวัน และควรทำอย่างสม่ำเสมอ 3-5 วันต่อสัปดาห์ หรือทุกวัน

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค เช่น

  • การใช้ยา ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาที่ใช้ต้านสารเคมีและฮอร์โมนในร่างกายที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว (angiotensin cobverting enzyme inhibitor, angiotensin receptor blockade, ARNI, beta-blocker, minerocorticoid receptor antagonist) ยาเบาหวานกลุ่ม sodium glucose transporter inhibitor แม้ผู้ป่วยไม่ได้เป็นเบาหวานก็ตาม เนื่องจากมีข้อมูลว่าช่วยทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้น
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการเลิกสูบบุหรี่
  • การรักษาด้วยเครื่องมือ เช่น การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
  • การปลูกถ่ายหัวใจ ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ดีขึ้น

การป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว

การป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง เช่น

  • ควบคุมความดันโลหิต หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตและทานยาตามที่แพทย์สั่ง
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
  • ลดระดับคอเลสเตอรอล ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
  • รักษาโรคหัวใจ หากมีโรคหัวใจ ควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
  • ควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
  • เลิกสูบบุหรี่ บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคหัวใจ
  • หากคุณมีอาการที่สงสัยว่าเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่โรคที่รักษาไม่ได้ แต่สามารถควบคุมอาการไม่ให้กำเริบได้ และชะลอความรุนแรงของโรคได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

by รศ. พญ.ศริญญา ภูวนันท์(Author)

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

- โรคเบาหวาน ภัยร้ายที่ยิ่งรู้เร็วยิ่งลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

- โรคสมองเสื่อม ภัยเงียบของผู้สูงอายุ กับวิธีวินิจฉัยเบื้องต้นที่คุณควรรู้!

- รู้ทันอาการนำของ โรคพาร์กินสัน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

- รู้จัก วัณโรค โรคติดต่อที่รักษาได้ เผยวิธีการดูแลอย่างถูกต้อง

ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ คอร์สเรียนแพทย์ ความรู้ทางการแพทย์ ได้ที่ Facebook: MDCU MedUMORE